ระวัง!! ถ้าซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ไม่ได้ของ ต้องทำอย่างไรจะได้เงินคืน #INFOGRAPHIC

ในยุคที่ใครๆ ก็ซื้อของออนไลน์ได้ง่าย สะดวก เพียงแค่ปลายนิ้วกดและโอนเงินรวดเร็วผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ทุกอย่างดูราบรื่น ง่ายดาย และมันคงจะดีงาม ถ้าเราได้ของมาตามที่สั่ง แต่อย่างที่หลายคนทราบดี บนโลกออนไลน์ ก็เหมือนดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และก็มีโทษเช่นกัน นอกจากสร้างความสะดวกสบายแล้ว มันยังเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพสามารถใช้หลอกหลวงผู้อื่นได้ง่ายๆ อีกด้วย ทำให้มีหลายคนเจอเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น…’ซื้อของออนไลน์ แต่สุดท้ายโดนโกง เมื่อสอบถามไปยังผู้ขาย ปรากฎว่าหนีหาย ไม่ตอบ’ เอ้า…ช่างไม่ให้เกียรติสลิปโอนเงินที่จ่ายไปเลยนะเนี่ย แล้วแบบนี้เราจะต้องทำยังไงกันดีล่ะ ถึงจะเอาผิดผู้ขายที่เข้าข่ายฉ้อโกงเราได้ ตามมาดูขั้นตอนที่เพื่อนๆ ต้องทำ เมื่อถูกโกงกันค่ะ

ทำอย่างไรเมื่อซื้อของออนไลน์ไป แล้ว…ไม่ได้ของ!

1. รวบรวมหลักฐาน

จุดนี้เรามีหลักฐานอะไรบ้าง รวบรวมมาให้หมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น…

-หน้าเว็บไซต์ที่เราเข้าไปซื้อของออนไลน์มา หรือ หน้าร้านค้าออนไลน์บนโซเชียลมีเดียไหน
-ข้อความที่แชท ที่คุยรายละเอียดกัน ก็แคปเชอร์ภาพการสนทนานั้นมาด้วย
-ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และ เลขบัญชีของร้านค้า มีอะไรบ้างที่ทราบ รวบรวมมาให้หมด
-หลักฐานการโอนเงิน สลิปโอนเงิน, ใบนำฝากที่เราจ่ายค่าสินค้าไป
-สำเนาบัตรประชาชนของเรา

2. เข้าแจ้งความดำเนินคดี

การเข้าแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายที่ฉ้อโกง สามารถทำได้ 2 วิธี

-นำหลักฐานที่รวบรวมมา เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอย่าลืมบอกด้วยว่า ต้องการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันเฉยๆ

-แจ้งความกับหน่วยงาน กองปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (TCSD) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยนำหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมาให้แก่เจ้าหน้าที่กองปราบปราม เนื่องจาก TCSD สามารถ ค้นหาข้อมูลของสแกมเมอร์และสามารถหาสแกมเมอร์ออนไลน์ได้ ทำให้สามารถติดตามคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ : ในกรณีที่แจ้งความกับ TCSD อาจจะต้องมีการขึ้นศาลที่กรุงเทพ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด อาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่นัก ดังนั้น ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด อาจจะแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ก็ได้ ซึ่งบางกรณีทาง TCSD ก็จะโอนคดีให้ทางตำรวจท้องที่เป็นผู้ดูแลคดีให้เช่นเดียวกัน

หลังจากแจ้งความแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อนำหลักฐานเข้าแจ้งความเรียบร้อยแล้ว พนักงานสอบสวนจะส่งเลขบัญชีของร้านค้าให้กับธนาคารตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี ถูกแอบอ้างมาหรือไม่ แล้วก็นำหลักฐานการเงินต่างๆ ดูความเคลื่อนไหวทางบัญชี ตรวจสอบทะเบียนราษฏรเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจสอบ IP Address และออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ก่อนดำเนินตามกระบวนกฏหมายต่อไป

ในส่วนของการได้เงินคืนนั้น โอกาสที่จะได้เงินคืนนั้นมีทั้งได้และไม่ได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อคนร้ายได้เงิน มักจะถอนเงินออกทันที และความผิดฐานฉ้อโกงรูปแบบนี้ สามารถยอมความได้ ยกเว้นฉ้อโกงประชาชน ซึ่งหากเราติดตามมิจฉาชีพเจอแล้ว คนร้ายอาจจะขอเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายได้ แต่หากคนร้ายไม่คืนเงิน ก็อาจต้องรอจนกว่าจะมีการพิจารณาคดีและขึ้นศาล จึงจะมีโอกาสได้รับเงินคืนค่ะ

แล้วผู้ขายที่โกงเราล่ะ จะได้รับความผิดตามข้อหาใดบ้าง…

สำหรับการซื้อของออนไลน์แล้วถูกโกงนั้น ผู้ขายที่ฉ้อโกง จะเข้าข่ายทำความผิดดังนี้

1.ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 341 การทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ดังน้ันหากรู้ตัวว่าถูกโกง ให้รีบแจ้งความภายใน 3 เดือน

2.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่เกี่ยวกับการนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทด้วย โดยมีอายุความ 10 ปี

 

ดังนั้นหากถูกโกง เมื่อซื้อของออนไลน์ แนะนำให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เวลาซื้อของออนไลน์ กรณีที่เป็นร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่เคยซื้อมาก่อน อย่าลืมตรวจสอบที่มาของร้านค้า ชื่อผู้ขาย เลขบัญชีของร้าน ดูประวัติการขายจากรีวิวต่างๆ ดูว่ามีการรับรอง มีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในการซื้อของออนไลน์ให้กับเพื่อนๆ และสร้างความมั่นใจได้ว่า ซื้อแล้ว จะได้ของจริงๆ กันค่ะ

 

SOURCE : TCSD  , Kapook 

ติดตาม Jeab.com
Jeab.com มี LINE แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับผู้หญิงยุคดิจิตอล ได้ทุกวันผ่าน LINE ID @jeabdotcom
No Comments Yet

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.